เกษตรอินทรีย์ชุมชนแม่กองคา
เกษตรอินทรีย์ชุมชนแม่กองคา
บ้านแม่กองคามีการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ในช่วงปีพ.ศ. 2520 ถึงปี พ.ศ. 2530 มีการตัดไม้โดยบริษัทและเจ้าหน้าที่รัฐ หลังจากการปิดสัมปทานป่าไม้ แล้วเกิดการประกาศพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติสาละวินในช่วงปีพ.ศ. 2537 ต่อจากนั้นมาเกิดเหตุการณ์น้ำป่า ดินถล่มของลำห้วยแม่กองคาในปีพ.ศ. 2546
การเป็นเครือข่ายของชุมชนบ้านแม่กองคา เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชุมชนของบ้านแม่กองคา และมีการเข้าร่วมกับกลุ่มองค์กรเครือข่ายภายนอกมีดังนี้
ชาวบ้านแม่กองคาใช้ระบบการสื่อสารภายในหมู่บ้าน ได้แก่ การใช้เสียงตามสาย นอกจากนั้นการสื่อสารภายนอกใช้ ระบบการเขียนจดหมาย และการใช้โทรศัพท์ในการติดต่อประสานงาน และมีอีกวิธีการหนึ่งใช้คนประสานงานพูดคุย
หมายเหตุ การติดต่อสื่อสารใช้ระบบโทรศัพท์นั้นในหมู่บานไม่มีคลื่นโทรศัพท์ ต้องออกจากหมู่บ้านไปยังจุดที่มีคลื่นโทรศัพท์ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
ทุนชุมชนของบ้านแม่กองคา พื้นที่หมู่บ้านแม่กองคา มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ต้นทุนที่มีอยู่ ได้แก่ ป่าไม้, ต้นน้ำ และพื้นที่ทำการเกษตร ชาวบ้านได้มีการหาอาหารจากป่า และลำห้วย นอกจากนั้นเก็บพืชผักในพื้นที่ทำการเกษตร
ชุมชนบ้านแม่กองคา มีการเริ่มเตรียมพื้นที่ในการทำการเกษตรตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นการถางไร่ หลังจากนั้นจะมีการเผาไร่ช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนเมษายน เดือนพฤษภาคม จะเน้นการเพาะปลูกพืช และข้าวทุกชนิด พอมาถึงเดือนกรกฎาคม ชาวบ้านจะเริ่มเก็บพืชผักในไร่หมุนเวียนจนถึงเดือนมกราคมของปี ชาวบ้านแม่กองคาจะมีประเพณีวัฒนธรรม 2 ครั้งคือ มัดมือขึ้นปีใหม่ในเดือนมกราคม และมัดมือเข้าพรรษาในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี
การแพทย์ฉุกเฉินของบ้านแม่กองคา เริ่มด้วยการปฐมพยาบาลจากอนามัยชุมชน เพื่อการักษาเบื้องต้น หลังจากนั้นอนามัยชุมชนได้ส่งไปต่อที่โรงพยาบาลสุขภาพตำบล เพื่อการคัดกรองประวัติของผู้ป่วย แล้วก็ส่งต่อไปที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ
ในอดีตชุมชนบ้านแม่กองคาได้เจอกับสถานการณ์ภัยพิบัติเรื่องข้าวไม่พอกิน ชุมชนบ้านแม่กองคาทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ทำนา การทำไร่หมุนเวียนนั้นต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก สิ่งที่เผชิญอยู่ในขณะนั้น และในไร่หมุนเวียนมีศัตรูพืช เช่น หนูเข้ามากินข้าวของชาวบาน ฝนไม่ค่อยตก ทำให้ชาวบ้านมีข้าวไม่พอกิน ต้องหาข้าวเปลือกจากหมู่บ้านอื่น ๆ ด้วยการลงมารับจ้างแลกกับข้าว และซื้อเกลือ ต่อจากนั้นมาชาวบ้านเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการลดพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อให้มีการดูแล และแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวจากหมู่บ้านอื่นเข้ามาปลูก จึงได้ผลผลิตที่ดีขึ้น มีข้าวพอกิน และหาอาชีพอื่น ๆ มาทดแทน เช่น เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เพื่อขายได้เงินซื้อข้าวมาทดแทนด้วย และมีการจัดการฐานทรัพยากรโดยชุมชน